ข้อวิจารณ์ ของ เมทินี ชโลธร

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2563 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งเผยแพร่ภาพ ตั้งข้อสังเกตเป็นบุคคลหน้าคล้ายจนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น 'เมทินี ชโลธร' ว่าในอดีตเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. โดยผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คยังได้หยิบยกประมวลจริยธรรมข้าราชการศาลยุติธรรม ข้อ 4 ที่ระบุว่า ข้าราชการศาลยุติธรรมจักต้องวางตัวเป็นกลางและปราศจากอคติ ผู้สื่อข่าวจึงพยายามติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านเบอร์โทรที่ให้ไว้ทางเว็บไซต์หน่วยงานเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพจริงหรือไม่ และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไร กลุ่มงานโฆษกและเผยแพร่ข่าว สำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่าไม่สามารถยืนยันรูปได้ พร้อมเสนอให้สอบถามไปยัง สำนักประธานศาลฎีกา ซึ่งผู้สื่อข่าวโทรศัพท์ไปสอบถามตามเบอร์โทรที่ให้ไว้บนเว็บไซต์ ได้รับคำตอบว่า ทางสำนักดูเพียงส่วนนโยบาย ไม่มีอำนาจที่จะตอบประเด็นนี้ได้ ต้องส่งเรื่องมาถาม และแนะนำให้โทรสอบถาม สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ กต. เมื่อผู้สื่อข่าวโทรติดต่อไปยัง ส่วนงานวินัยและส่งเสริมจริยธรรม สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ได้รับคำตอบเช่นเดียวกันคือไม่สามารถให้คำตอบได้ ไม่มีอำนาจที่จะตอบ[6]

ในภายหลัง เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564 รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้เผยแพร่บทความ 'การร่วมชุมนุมกับ กปปส. “เป็นความสง่างามของผู้พิพากษา” ?' โดยบทความนั้นมีเนื้อความโดยย่อว่า แต่เดิมตนเข้าใจว่าว่าทางคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) มิได้มีการตระหนักต่อประเด็นข้อสงสัยดังกล่าว แต่ในภายหลังที่ได้อ่านรายงานการประชุมของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ก็ได้พบว่าการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองของนางเมทินี เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้มีการพิจารณาและอภิปรายในการประชุมของ ก.ต. ก่อนที่จะได้มีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่ขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ในการประชุมของ ก.ต. ครั้งนี้ บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ความเห็นและพิจารณาต่อการร่วมชุมนุมของว่าที่ประธานศาลฎีกา (ในขณะนั้น) มีความหมายอย่างไร เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้หรือไม่ โดยขณะนั้น นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี (ผู้พิพากษาศาลฎีกา) ได้อภิปรายถึงข้อการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อนางเมทินีว่า วางตัวไม่เป็นกลาง เพราะเข้าไปร่วมการชุมนุม กปปส. โดนมีภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่านั่งอยู่กับเพื่อนอีกคนหนึ่งในที่ชุมนุม แต่นุจรินทร์มีความเห็นว่า ไม่ได้มีสิ่งใดแสดงให้เห็นเลยว่าเป็นการสนับสนุนฝ่ายผู้ชุมนุม ส่วนนายวรสิทธิ์ โรจนพานิช (ผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอก) ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับนางนุจรินทร์ รวมทั้งยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าการเข้าไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. นั้นควร “เป็นความสง่างามของผู้พิพากษา” เนื่องจากกระทำด้วยความรักชาติ รักสถาบัน ในขณะที่นายณรัช อิ่มสุขศรี (ศาลชั้นต้น) ก็มีความเห็นว่าเพียงการเข้าร่วมยังไม่อาจถือว่าเป็นการฝักใฝ่ทางการเมือง สำหรับเขาแล้วต้องแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น เข้าร่วมไฮด์ปาร์ก จึงจะถือว่าสร้างปัญหาแก่การทำงานในฐานะผู้พิพากษา มีเพียงนายกิจชัย จิตธารารักษ์ (ศาลฎีกา) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงบุคคลคนเดียวในที่ประชุมที่ได้อภิปรายและพยายามยึดโยงกับประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ รวมทั้งมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ยังไม่ใช่ความผิดที่ถึงขนาดจะทำให้ไม่ได้รับตำแหน่งประธานศาลฎีกา การตักเตือนก็อาจเป็นการเพียงพอ [7]